top of page

ฝึกลูกให้ "คิดก่อนทำ" ด้วยทักษะยับยั้งชั่งใจ จุดเริ่มต้นของ EF ที่ดี


คุณพ่อคุณแม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างไหมคะ?

ลูกเห็นของเล่นในห้างแล้วพุ่งเข้าไปหยิบทันที

ลูกโกรธแล้วอาละวาด ทำลายข้าวของโดยไม่ทันคิด 

หรือเมื่อต้องรอคิว กลับไม่มีความอดทน รอคอยไม่เป็น


หากคุณพ่อคุณเเม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เพราะลูกดื้อ หรือไม่เชื่อฟังเสมอไปนะคะ แต่อาจเป็นเพราะเขายังไม่ได้พัฒนา "การยับยั้งชั่งใจ" ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของทักษะ EF (Executive Functions) ที่สำคัญมากต่อพฤติกรรม การควบคุมอารมณ์ และการตัดสินใจในชีวิตประจำวันของลูก 


วันนี้พี่แอสต้าจะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ "ทักษะการยับยั้งชั่งใจ" ให้ลึกขึ้น พร้อมวิธีฝึกฝนง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เพื่อฝึกให้ลูกรู้จัก "หยุดคิดก่อนทำ" วางรากฐานทักษะ EF ที่แข็งแรงให้กับลูกน้อยกันค่ะ



“การยับยั้งชั่งใจ” คืออะไร? พื้นฐานสำคัญของทักษะ EF 

การยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control)  คือ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ เเละพฤติกรรมของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่มีทักษะนี้จะสามารถ “หยุดคิดก่อนทำ”  มีเหตุผล และไม่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำง่ายๆ การมีทักษะการยับยั้งชั่งใจจะเป็นรากฐานของการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัย มีความรับผิดชอบ และประสบความสำเร็จในอนาคต 


ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ยังขาดการยับยั้งชั่งใจ มักจะตอบสนองต่อสถานการณ์ด้วยอารมณ์แบบฉับพลัน เหมือนรถที่ไม่มีเบรก — ควบคุมทิศทางไม่ได้ และอาจสร้างปัญหาในชีวิตประจำวันได้ง่าย



ทำไม “การยับยั้งชั่งใจ” จึงสำคัญต่อ ทักษะ EF ของลูก?

คุณพ่อคุณแม่ลองนึกภาพลูกที่สามารถรอคอยได้โดยไม่ร้องไห้ หรือแม้จะโกรธ ก็ยังไม่ตะโกนใส่ใคร เด็กแบบนี้เป็นเด็กที่มีการยับยั้งชั่งใจที่ดี ซึ่งหมายถึงว่าเขาสามารถ "คิดก่อนทำ" และควบคุมแรงกระตุ้นจากอารมณ์ได้ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานของการมีทักษะ EF ที่ดี นั่นเอง


ท่ามกลางยุคสมัยที่เต็มไปด้วยแรงกระตุ้นรอบตัว เช่น ความต้องการทันที การรอคอยไม่เป็น หรือความหงุดหงิดเล็กๆ ที่อาจลุกลาม  หากเด็กๆขาดการยับยั้งชั่งใจ อาจนำไปสู่ปัญหาทางด้านพฤติกรรม เช่น

• พูดหรือทำอะไรโดยไม่คิดก่อน

• ควบคุมตัวเองได้ยาก โกรธง่าย ตะโกน ตี หรือร้องไห้เมื่อไม่ได้ดั่งใจ

• เล่นกับเพื่อนแล้วทะเลาะบ่อยๆ เช่น อาจจะเเย่งของเล่นกัน

• รอคอยไม่เป็น

• ขาดสมาธิ เปลี่ยนกิจกรรมที่ทำอยู่บ่อยๆ

• ขัดจังหวะเวลาผู้ใหญ่พูด


การฝึกให้ลูกมี การยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษะ EF ตั้งแต่เด็กจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้ลูกสามารถจัดการกับความรู้สึกต่างๆ ได้ดีขึ้น  คิดก่อนจะทำสิ่งใดก็ตาม  และตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด ทักษะนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เด็กไม่ทำอะไรหุนหันพลันแล่นเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีวินัย มีความรับผิดชอบ และประสบความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย


หยุดคิดก่อนทำ… พฤติกรรมเล็กๆ ที่ส่งเสริมทักษะ EF


“หยุดคิดก่อนทำ” คือพฤติกรรมพื้นฐานที่แสดงถึงการมี ทักษะ EF ที่ดี ซึ่งช่วยให้เด็กฝึกยับยั้งแรงกระตุ้นภายใน และพัฒนาสมองส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผล การวางแผน และการตัดสินใจ เด็กที่รู้จักหยุดคิดก่อนพูด หรือก่อนลงมือทำอะไร จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ และลดปัญหาพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นได้อย่างชัดเจน  


ประโยชน์ของการ "หยุดคิดก่อนทำ" ต่อทักษะ EF ในชีวิตประจำวัน

เพราะในชีวิตประจำวัน เราต้องเจอกับสถานการณ์มากมายที่ต้องใช้การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว  การยับยั้งชั่งใจคือความสามารถในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม การฝึกให้ลูกหยุดคิดก่อนทำ จะช่วยเสริมพัฒนาการด้านทักษะ EF ได้หลายด้าน เช่น


• รู้จักควบคุมอารมณ์ : ลูกจะรู้จักรับมือกับความโกรธ ความเสียใจ หรือความตื่นเต้นได้อย่างเหมาะสม   ไม่แสดงออกแบบหุนหันพลันแล่น

• คิดไตร่ตรองเป็น : ลูกจะสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ  และตัดสินใจเลือกทางที่เหมาะสมที่สุดให้กับตัวเอง

• เพิ่มสมาธิ : การยับยั้งชั่งใจช่วยให้ลูกสามารถโฟกัสสิ่งที่ทำอยู่ได้ดีขึ้น  ลดความรำคาญและความเบี่ยงเบนความสนใจ

• ปรับตัวให้เข้ากับสังคม : การยับยั้งชั่งใจช่วยให้ลูกเข้าใจและเคารพกฎระเบียบต่างๆ ในสังคม

• เพิ่มความมั่นใจ : เด็กที่สามารถควบคุมตนเองได้จะรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น  และมีความสุขกับการเรียนรู้



วิธีฝึกฝนลูกให้ "หยุดคิดก่อนทำ" ด้วยทักษะการยับยั้งชั่งใจ เพื่อพัฒนาทักษะ EF ที่บ้าน

การฝึกฝนทักษะการยับยั้งชั่งใจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก  พ่อแม่สามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่เด็กๆ และทำอย่างต่อเนื่อง เช่น 


- ตั้งกฎและข้อตกลงร่วมกัน : พูดคุยและตกลงกฎระเบียบในบ้าน  โดยชี้แจงเหตุผลและความสำคัญของกฎนั้นๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจและรู้ว่าสิ่งใดควรทำ และสิ่งใดไม่ควรทำ กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและสอดคล้องกันจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตาม และพัฒนาทักษะการควบคุมตนเองได้ดีขึ้น

- ให้เวลาลูกได้คิด : อย่ารีบตัดสินใจให้ลูก  ให้ลูกได้คิดและเลือกทางออกของตัวเอง โดยให้คำแนะนำและแนวทางอย่างเหมาะสม

- สอนให้รู้จักรอคอย : ฝึกให้ลูกอดทนรอคอยสิ่งต่างๆ  เช่น การรอคิว การรอคอยของเล่น หรือการรอคอยอาหาร  และชื่นชมความพยายามของลูกในการอดทน  ‘การรอคอย’ เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาอดทน และควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น

- ฝึกการจดจ่อ : หากลูกมีสมาธิสั้น ลองฝึกให้เขามีสมาธิจดจ่อในกิจกรรม เช่น อ่านหนังสือ  เล่นดนตรี  หรือวาดรูป  การฝึกสมาธิจะช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมความสนใจ และลดความประมาทได้

- เล่นเกมเสริมทักษะ EF  สร้างกิจกรรมที่ต้องใช้การคิดอย่างรอบคอบ : เช่น การเล่นเกมปริศนา  เกมวางแผนกลยุทธ์ หรือการเล่นบทบาทสมมุติที่ต้องใช้การตัดสินใจเเละช่วยฝึกทักษะการยับยั้งชั่งใจ

- พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี : พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง


การยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช่แค่เรื่องของการหักห้ามใจ แต่คือทักษะสำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ และเลือกทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง การฝึกฝนทักษะ "การยับยั้งชั่งใจ" ให้ลูกตั้งแต่เด็กเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตและพัฒนาการของเขา  พ่อแม่สามารถฝึกฝนทักษะนี้โดยสร้างกิจกรรมที่สนุกสนานและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน  อย่ารอให้ลูกโตเเล้วค่อยสอน หากพ่อแม่เริ่มต้นได้เร็ว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ลูกจะเติบโตเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทั้งด้านอารมณ์และการคิดอย่างแท้จริง เริ่มวันนี้…ด้วยการฝึก “คิดก่อนทำ” เพื่อเสริมทักษะ EF ที่แข็งแรงให้กับลูกในอนาคตกันเถอะค่ะ


มากกว่า ‘ของเล่น’ คือเห็นคุณได้เล่นกับลูก

วันนี้คุณเล่นกับลูกแล้วหรือยัง?

- A.smartbrain-



 
 
 

Comments


bottom of page