top of page
Writer's pictureASTA Mammy & Kids

สมาธิสั้น ลูกเราเป็นหรือเปล่านะ แล้วพ่อแม่ต้องแก้ไขยังไง?


เพราะเจ้าตัวเล็กมักจะซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ใจร้อน เริ่มหงุดหงิดง่าย วอกแวกอยู่ตลอดเวลา อาการแบบนี้ชวนสงสัยไม่น้อยเลยนะคะ ว่าลูกเรา"สมาธิสั้น"หรือเปล่านะ? โดยเฉพาะเด็กๆบ้านไหนที่มีปัญหาติดจอมากเกินไปยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสมาธิสั้นตามมาได้ โดยสมาธิสั้นถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาของเด็กไทยที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีจำนวนเด็กไทยป่วยด้วยอาการของโรคสมาธิสั้นกว่า 1 ล้านคนเลยทีเดียว


วันนี้ AsmartBrain เลยอยากถือโอกาสนี้ชวนคุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านมาลองเช็กอาการ ทำความเข้าใจ เเละประเมินความเสี่ยงของโรคสมาธิสั้นในเด็กให้เท่าทันไปพร้อมกันค่ะ ตามไปดูกันเลย


โรคสมาธิสั้นในเด็กเกิดจากอะไร


"โรคสมาธิสั้น" (Attention Deficit Hyperactivity Disorder- ADHD) เป็นโรคที่เกิดจากสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมาธิ ทำให้พฤติกรรมและการแสดงออกของเด็กผิดปกติ ทำให้เด็กวอกแวก ซุกซนมากกว่าเด็กทั่วไป และขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ โดยผลพ่วงจากอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน เเละการเข้าสังคมในอนาคตของเด็กได้



รู้ไหม? เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ กระตุ้นให้เด็กสมาธิสั้นมากขึ้น

นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่เป็นปัจจัยทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นเเล้ว ปัจจัยหลักอีกหนึ่งเรื่องที่กระตุ้นทำให้เด็กเกิดสมาธิสั้นในปัจจุบันได้มากขึ้น ก็คือ ปัจจัยจากการเลี้ยงดูเเละสิ่งแวดล้อมนั่นเองค่ะ เพราะปัจจัยจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการให้ลูกอยู่หน้าจอเเท็บเล็ต หน้าจอมือถือเป็นเวลานาน ก็ส่งผลทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะเกิกสมาธิสั้นได้


- เมื่อเล่นไปนานๆ ส่งผลให้เด็กขาดสมาธิและการควบคุมตัวเอง

- ทำให้เด็กอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ไม่รู้จักการรอคอย

- ในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอยู่แล้วจะยิ่งกระตุ้นให้มีอาการใจร้อน อารมณ์ฉุนเฉียว และขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น



วิธีสังเกตอาการของโรคสมาธิสั้นในเด็ก

- ซนมากกว่าปกติ อยู่ไม่นิ่ง เด็กจะมีอาการซน ยุกยิก นั่งนิ่งไม่ค่อยได้ เคลื่อนไหวตลอดเวลา แสดงออกให้เห็นถึงความบกพร่องในการควบคุมการแสดงออกทางพฤติกรรม นอกจากนี้อาจะมีอาการพูดมากกว่าปกติ ส่งเสียงดัง

- ขาดสมาธิอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กขาดความละเอียดรอบคอบในการทำสิ่งต่างๆ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการเรียน หรือไม่สามารถตั้งใจครูสอนในห้องเรียนได้อย่างต่อเนื่อง จะมีอาการเหม่อลอย วอกแวกง่าย หุนหันพลันแล่น หรือเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานก็จะทำไม่เสร็จ เบื่อง่าย นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ไม่เต็มศักยภาพ หลงลืมกิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำ ขาดการยับยั้งใจตนเอง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

- รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคมในอนาคต เพราะเด็กจะขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น



เมื่อลูกสมาธิสั้นพ่อแม่รับมืออย่างไรดี?

ทราบหรือไม่คะว่า การรับมือกับภาวะสมาธิสั้นในเด็กเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งความเข้าใจ เเละการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปพร้อมกันเพื่อจะให้เกิดผลดีกับเด็กมากที่สุด ในพ่อแม่บางบ้านที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในโลกนี้มากนัก เมื่อลูกแสดงอาการที่ไม่พึงประสงค์ของโรคขึ้นมาแล้วพ่อแม่ลงโทษด้วยการตีเพื่อหวังจะให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันวิธีนี้จะยิ่งส่งผลให้เด็กมีอารมณ์โกรธเเละนำไปสู่พฤติกรรมกร้าวร้าวได้


- งดเลี้ยงลูกด้วยการให้ดูหน้าจอ

- ฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอยและอดทน

- พ่อแม่หมั่นสร้างวินัยให้ลูก กำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบขั้นตอน

- จัดสภาพเเวดล้อม ลดสิ่งเร้ารอบตัวลูก

- ฝึกให้ลูกเล่นกีฬา ดนตรี หรือศิลปะ

- ติดต่อ พูดคุยกับคุณครูประจำชั้นอย่างส่ำเสมอ

- กล่าวชื่นชมหรือให้รางวัล เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

- เมื่อพบว่าลูกมีความเสี่ยงสมาธิสั้นควรนำลูกไปพบแพทย์


เล่นกับลูกป้องกันสมาธิสั้นได้

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กกลายเป็นโรคสมาธิสั้น คือการใช้เวลาไปกับหน้าจอมากกว่าที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ดังนั้นพ่อแม่ควรดูเเลหรือกำหนดช่วงเวลาในการใช้หน้าจอให้ลูกอย่างชัดเจน ว่าสามารถเล่นได้ตอนไหนบ้าง โดยเฉพาะในเด็กที่ต่ำกว่า 2 ขวบควรงดจอ สำหรับเด็ก 3 ขวบขึ้นไปต้องกำหนดเวลาในการใช้อย่างเหมาะสม และลองใช้เวลาไปกับลูก เล่นกับลูกให้บ่อยขึ้น ชวนลูกทำกิจกรรม กระตุ้นความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือลองชวนลูกพูดคุยเรื่องต่างๆหลังจากกลับจากโรงเรียน ให้ลูกได้ใช้เวลาเล่าสิ่งที่ตัวเองไปพบเจอในวันนี้มาให้เราฟัง วันนี้เรียนอะไรไปบ้าง? สนุกไหม? หรือมีอะไรเล่าให้พ่อแม่ฟังไหม?


โรคสมาธิสั้น เป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความวิตกกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยเลยนะคะ เพราะส่งผลกระทบทั้งในด้านพฤติกรรม การเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ การเข้าสังคม รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันในทุกด้านอีกด้วย เเต่หากพ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจ เเละสามารถรับมือกับโรคสมาธิสั้นได้อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยป้องกันและรักษาให้ลูกเติบโตไปด้วยพัฒนาการอย่างสมวัยได้ต่อไปนั่นเองค่ะ


มากกว่า 'ของเล่น' คือเห็นคุณได้เล่นกับลูก

วันนี้คุณเล่นกับลูกแล้วหรือยัง?

- AsmartBrain -

22 views0 comments

Comments


bottom of page