top of page

หนูไม่ได้ดื้อนะ…แค่ต่อต้านตามวัย

Updated: Oct 5, 2023


เด็กผู้ชายถือป้ายถูกและผิด

พ่อแม่ที่กำลังมีลูกวัย 1-3 ขวบ รู้สึกไหมคะว่าลูกเราดื้อจัง ให้ทำอะไรหนูก็บอก ไม่ ไม่ ตลอด ความจริงเด็กวัยนี้พัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง ก้าวหน้าขึ้นมากจนลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง อยากเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบ อยากทำอะไรด้วยตัว หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรมต่อต้าน” ซึ่งถือว่าเป็นไปตามวัย พ่อแม่อย่าเพิ่งหงุดหงิดไปนะคะ ลองพยายามเข้าใจและแก้ปัญหาเป็นสเตปตามนี้ดูค่ะ

1. “แจ้งให้ทราบ” หากลูกรู้สึกว่ากำลังโดนขัดใจ หรือโดนพรากจากกิจกรรมที่กำลังสนใจอยู่ทันที ลูกจะเกิด “พฤติกรรมต่อต้าน” พ่อแม่ ลองให้เวลาและแจ้งลูกล่วงหน้า เช่น อีก 10 นาที ไปบ้านคุณยายกันนะ ซึ่งถ้าลูกได้ฟังแล้วต่อต้านก็ปล่อยให้ลูกระบายความรู้สึก หรือเล่น ไปก่อนค่ะ

2. “เริ่มคุยด้วยความเข้าใจ” เมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องหยุดเล่นเพื่อไปอาบน้ำแล้ว แต่ลูกยังไม่หยุดและโวยวาย พ่อแม่ลองค่อยๆ คุยกับลูกอย่างสงบด้วยประโยคกระชับ เช่น “แม่รู้ว่าลูกกำลังสนุกมากๆ แต่ตอนนี้ได้เวลาที่ต้องไปหาคุณยายแล้ว คุณรออยู่อยู่ เราต้องไปแล้วค่ะ” ซึ่งการพูดลักษณะนี้เป็นการฝึกให้ลูกค่อยๆ จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ ดีกว่าการโมโหหรือสั่งให้ลูกไปทันที แต่ถ้าพูดแล้วยังไม่ยอมทำตามพ่อแม่ก็อย่าใจเย็นอย่าเพิ่งหงุดหงิดนะคะ คิดว่าเป็นการฝึกนิสัยลูกไปในตัว 3. “ลงมือเลย” เมื่อลูกยังต่อต้านและไม่ทำตามที่ตกลงไว้ พ่อแม่ต้องทำจริงแล้วค่ะ พาลูกออกจากจุดนั้นอย่างไม่รุนแรง ไม่ลาก ไม่ดึงพร้อมกับชี้ชวนด้วยเหตุผลอื่น เช่น “ดูสิพี่ไปนั่งที่รถแล้วนะ” ซึ่งเด็กวัยนี้ชอบเลียนแบบเห็นพี่ทำก็อยากทำด้วย ระหว่างทางไปคุณแม่อาจชวนลูกวิ่งแข่งใครถึงรถก่อนกันให้ดูเป็นเรื่องสนุกสนานขึ้นก็ได้ อีกวิธีที่ใช้ได้ดีกับลูกๆ วัยต่อต้านคือให้ลูกได้เลือกเอง เพราะลูกจะไม่ชอบการถูกบังคับ หนูต้องไป หนูต้องทำ แต่ถ้าพ่อแม่ลองเปลี่ยนคำพูด เช่น “หนูอยากให้พ่อหรือแม่พาไปดีคะ” ซึ่งเมื่อลูกได้เป็นคนเลือก ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับพฤติกรรมต่อต้านที่มีนั้นก็จะลดลง สำคัญคือพ่อแม่ต้องเข้าใจ ไม่ดุว่าเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นที่ต่อต้านน้อยกว่า และไม่จัดการด้วยวิธีรุนแรง เพราะจะทำให้ลูกอาจกลายเป็นเด็กเก็บกดและก้าวร้าว เพราะเลียนแบบพฤติกรรมตัวอย่างมาจากพ่อแม่นั่นเองค่ะ หมั่นสังเกตพฤติกรรมและหาวิธีที่เหมาะสมไปใช้กับเจ้าตัวเล็กที่บ้านนะคะ Cr : นิตยสารรักลูก / จากบทสัมภาษณ์ พญ.อัมพร สันติงามกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

10 views0 comments
bottom of page