พัฒนาการด้านจิตใจ
Updated: Feb 14, 2022

ลูกน้อย ของเรามีพัฒนาการแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไรบ้าง และคุณพ่อคุณแม่ควรเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยได้อย่างไร
0 – 1 ปี
0 สัปดาห์ เด็กเริ่ม “เข้าใจ” ได้นับแต่วินาทีแรกที่เกิดมา วันแรก เขาจะรับฟัง ตื่นตัว วันที่ 3 ตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงเขม้นจ้องจริงจัง วันที่ 9 สายตากวาดหาแหล่งกำเนิดเสียง วันที่ 14 จดจำคุณแม่ได้ วันที่ 18 ออกเสียงอ้อแอ้ หันศีรษะหาเสียง วันที่ 24 มีศัพท์เสียงของตัวเอง จีบปากจีบคอขยับริมฝีปากเมื่อคุณแม่คุยด้วย สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ตอบสนองสัญญาณและเสียงพูดของลูกน้อย ให้เขาได้มองเห็นริมฝีปากของคุณแม่ ผงกศีรษะรับ โบกมือขวักไขว่ทักทายลูกน้อย – ลูกน้อยมองเห็นได้ชัดในระยะ 8-10 นิ้ว ยื่นหน้า กระดิกนิ้ว หรือยื่นของเล่นสีสันสดสวยให้ลูกที่ระยะห่างระดับนี้ กระตุ้นประสาทรับรู้ พูดคุย ร้องเพลงให้ลูกฟัง อุ้มลูกน้อยมากอดรัดโยกโอนเอน ยื่นของเล่นเข้าใกล้เพื่อให้เขามองเห็นได้ชัดเจน
4 สัปดาห์ ลูกน้อยเข้าใจกลไกการพูด ขยับริมฝีปากเลียนการออกเสียง เขาจะปรับพฤติกรรมให้รับกับเสียงของคุณ ลูกน้อยจะสงบเมื่อคุณปลอบโยนจะโยเยงอแงถ้าคุณขึงขังแผดเสียงดัง สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นจังหวะแห่งประสาทรับรู้ โดยการพูดคุยเล่นเสียงทำนองเสนาะหรือร้องเพลงเห่กล่อม – หัวเราะบ่อยครั้ง – กอดรัด อุ้มลูกน้อยแนบอก กอดให้มั่น โยกตัว หมุนไปมา ไกวลูกน้อยในเปลหรืออุ้มนั่งในเก้าอี้โยก สนองจังหวะของลูกน้อย พูดคุยเล่นเสียงกับลูกน้อย ร้องเพลง เห่กล่อม อุ้มลูกน้อย โยกตัวไปมา
6 สัปดาห์ ลูกน้อยยิ้มให้คุณ ผงกศีรษะรับเมื่อคุณพูดด้วย ลูกน้อยจะส่งเสียงอึกอักในลำคอเมื่อได้ยินคุณแม่พูดด้วย สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ลูกน้อยจะทุ่มความสนใจมายังคุณแม่เต็มที่ คุณแม่จึงควรยักคิ้วหลิ่วตาออก ท่าทางในยามที่พูดคุยกับลูกน้อยประสานตาในทุกโอกาส – ดึงดูดความสนใจของลูกน้อยด้วยการยื่นปลายนิ้วหรือของเล่นเข้าใกล้ แล้วดึงออกห่าง โยกตัวไปมา พูดออกเสียงทั้งทางซ้ายและขวา ปลุกความสนใจของลูกน้อย ประสานตา ออกท่าทางในยามพูด พูดออกเสียงทั้งทางซ้ายและขวาให้ลูกน้อยหันศีรษะมองตาม
8 สัปดาห์ ลูกน้อยยิ้มบ่อยครั้ง สนใจสภาพรอบข้างมากขึ้น หันตามทิศทางของเสียงและการเคลื่อนไหว เขม้นจ้องวัตถุสิ่งของ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ใช้เบาะหนุนดันหลังลูกน้อยให้เหลียวมองรอบข้างได้ถนัด – แขวนโมบายล์หรือกระจกไว้ข้างอู่ หาของเล่นอ่อนนุ่นให้ – ร้องเพลงเห่กล่อม – ยกมือของลูกน้อยขึ้นมาให้เขาดู เติมความสดใสให้สภาพแวดล้อม ใช้เบาะหนุนหลังลูกน้อยให้เหลียวมองวัตถุสีสดใสที่ตกแต่งไว้รอบตัวของเขา
12 สัปดาห์ ลูกน้อยรู้จักส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตัวเอง มองปลายนิ้วและกระดิกได้ตามใจ ตอบสนองคำพูดของคุณแม่ด้วยการพยักหน้า ยิ้ม จีบปากจีบคอ ส่งเสียงอ้อแอ้ แสดงอาการต่าง ๆ ให้ทราบถึงความดีใจ ขับเนื้อตัวดิ้นกระดุกกระดิก สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ตอบสนองการแสดงออกของลูกน้อยด้วยท่าทางเกินจริง – ออกท่าทางประกอบเพลงเห่กล่อม – เล่นเกมร่างกายแสนสนุก… กระตุกเบา ๆ พับเข่าเข้าออก ดึงแขน เกาฝ่าเท้า – หาของเล่นเนื้อแน่นขนาดเล็ก หลากลักษณะเนื้อผิวและน้ำหนักเพื่อให้เขาหยิบ จับ และสัมผัส แสดงความพึงใจออกมานอกหน้า ตอบรับการแสดงออกทุกอย่างของลูกน้อยด้วยการแสดงความยินดีออกท่าออกทาง
16 สัปดาห์ ลูกน้อยแสดงความอยากรู้อยากเห็นออกมาเต็มที่สนใจของเล่นใหม่ สถานที่ใหม่ เสียงแปลกใหม่ และความรู้สึกรับรู้ใหม่ ๆ เขาจดจำสถานที่และวัตถุที่เคยคุ้นได้ดี เข้าใจกิจวัตรประจำวัน แสดงอาการตื่นเต้นเมื่อเห็นขวดนมหรือเต้านม เริ่มมีอารมณ์ขัน อยากจะให้คุณแม่ใช้เบาะหนุนหลังให้เพื่อเหลียวมองไปได้รอบ ๆ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นอารมณ์ขัน เลือกเล่นในสิ่งที่เด็กโปรดปราน ร่วมหัวเราะกับลูกน้อย – ของเล่นเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของเด็ก หาของเล่นลักษณะต่าง ๆ แตกต่างกันทั้งขนาด เนื้อผิว และน้ำหนักให้เด็กได้สัมผัส ของเล่นบางชิ้นควรส่งเสียงได้ เติมความอยากรู้อยากเห็น ขยายขอบเขตประสบการณ์ของเด็ก โดยการบรรยายสิ่งที่เห็นหรือกิจกรรมที่คุณแม่ทำ… ด้วยคำพูด
20 สัปดาห์ ลูกน้อยชอบเล่นเกม ชอบตีน้ำในอ่าง แสดงให้เห็นพัฒนาการของความสนใจ ใช้เวลาเล่นของเล่นแต่ละชิ้นนานขึ้น ยิ้มให้ตัวเองในกระจก หันหน้าหาต้นเสียง ขยับแขนขาเรียกร้องความสนใจ ชอบลูบไล้ขวดนม สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ลูกน้อยรู้ว่าการเรียกร้องความสนใจของตนจะได้รับการตอบสนองจากคุณแม่ คุณแม่เป็นแหล่งความช่วยเหลือ ความอบอุ่นสุขสบาย เมื่อใดที่ลูกน้อยส่งเสียงเรียกร้องความสนใจให้คุณแม่หัวหน้าไปหา ประสานตาด้วย และเดินตรงไปหาลูกน้อย – แนะนำคนแปลกหน้าทุกคนให้ลูกน้อยรู้จัก – เรียกขานชื่อของลูกบ่อย ๆ เล่นเกมให้มาก เด็กจะโปรดปรานเกม “จ๊ะเอ๋” หรือ “นิ้วน้อยของใคร” หัวเราะร่วมกับลูกน้อยให้มากที่สุด
24 สัปดาห์ ลูกน้อยจะส่งเสียงอ้อแอ้เรียกร้องความสนใจ ตื่นตัวเมื่อได้ยินเสียงคนเดินเข้ามาใกล้ ชูแขนให้อุ้มขึ้นจากอู่ พูดคุย ยิ้มกับภาพตนเองในกระจก และเป่าลูกโป่งฟองน้ำลาย ทำท่าอายคนแปลกหน้า แสดงท่าทางกลัว และความไม่ชอบอาหารบางชนิด สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เล่นเกมทิ้งของแล้วเก็บคืนกลับให้ลูกน้อย ยื่นและรับของกับเด็ก – เรียกชื่อลูกให้บ่อยครั้ง – แนะนำลูกน้อยให้รู้จักเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น ดันลูกบอล แล้ว บอกว่า ลูกบอลจะกลิ้งออกไป ตอบสนองการเรียกร้องความสนใจ ถ้าลูกน้อยเรียกร้องความสนใจ เดินเข้าไปหา ยื่นมือทำท่าอุ้มและเรียกชื่อลูกแสดงออกชัดแจ้งว่าคุณมาหาแล้ว
28 สัปดาห์ ลูกน้อยเริ่มสนทนา อาจมีเสียงอ้อแอ้ที่มีความหมายเฉพาะ รู้จักชื่อตัวเอง ชูแขนให้อุ้มขึ้นจากอู่ แสดงความสามารถในการพึ่งตนเองโดยถือขวดนมเอง กินอาหารเอง เลียนแบบกิริยาอย่างง่าย และเบิ่งตารับฟังคำซ้ำ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ให้ลูกน้อยส่องกระจก เรียกชื่อลูกเพื่อให้เขารู้จักตัวเอง เรียกชื่อแทนการใช้สรรพนาม เปล่งคำว่า “ไม่” เพื่อแสดงความหมายในเชิงปฏิเสธ – เลียนเสียงลูกทุกคำ – สนับสนุนการพึ่งพาตนเอง โดยจัดอาหารที่ใช้มือหยิบได้ ให้ลูกรู้จักตัวเอง ให้ลูกน้อยส่องกระจก เรียกขานชื่อพร้อมกับชี้ให้ดูภาพสะท้อนในกระจก เรียกชื่อลูกให้บ่อยครั้ง
32 สัปดาห์ ลูกน้อยเริ่มเข้าใจความหมายของคำ รู้ว่า “ไม่” คือ คำห้าม แสดงความมุ่งมั่นออกมา เช่น การเอื้อมมือคว้าของเล่นที่อยู่สุดเอื้อม สนใจในการเล่นเกม ทุ่มเทความสนใจให้ของเล่น มองหาของเล่นที่หล่นหลุดจากมือ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เล่นเกมในน้ำ หากระปุก กระป๋อง ถ้วย เหยือกให้ลูกรินเติมและเทน้ำทิ้ง – วางของเล่นของลูกน้อยให้อยู่สุดเอื้อม ช่วยหยิบคืนให้ถ้าลูกร้องขอ – แนะนำเกมใหม่ ๆ ที่ต้องการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น เกมตบแผละ – กระตุ้นให้ลูกช่วยตัวเอง ให้หยิบอาหารกินเอง หาเกมสนุกเล่นในน้ำ ของใช้ในบ้านหรือของเล่นไม่เปียกน้ำจะเป็นเครื่องเล่นแสนสนุกในอ่างน้ำ
36 สัปดาห์ ลูกน้อยจดจำเกมและเพลงเห่กล่อมได้ จะหัวเราะเมื่อถึงตอนที่โปรดปรานออกท่าทางร่วมสนุกด้วย จะหันศีรษะเมื่อได้ยินเสียงเรียกชื่อ ยื่นมือให้คุณแม่ล้างมือให้ แต่จะหันศีรษะหนีเมื้อสวมเสื้อ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – อธิบายขั้นตอนของชีวิตประจำวันให้ลูกน้อยได้รับรู้ เช่น “ตอนนี้เที่ยงวันแล้ว แรกสุดเราก็ต้องสวมผ้ากันเปื้อนกันเสียก่อน แล้วก็ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ คุณแม่จะป้อนข้าวให้นะคะ… อืม อาหารอร่อยมาก” – หาของเล่นที่มีเสียง ให้เล่นเครื่องครัวที่ไม่มีอันตราย อธิบายกิจวัตรประจำวัน ใช้เวลาอาหาร เวลาอาบน้ำ หรือเวลานอนเป็นหลักอธิบายขั้นตอนของการใช้ชีวิตประจำวัน
40 สัปดาห์ ลูกน้อยคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวัน เช่น โบกมือลาคุณพ่อ ยกเท้าให้สวมถุงเท้า เด็กรู้จักตุ๊กตาหรือหมีน้อย ลูบไล้ตุ๊กตา จดจำเกมตบแผละได้ คลานอ้อมเหลี่ยมมุมบ้านเพื่อมองหาของเล่น หรือเหลียวหาคุณพ่อ ถ้าคุณแม่ถามว่า “คุณพ่ออยู่ไหน?” สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – หาของเล่นที่ส่งเสียงได้ เช่น กระดิ่งหรือแตร ให้ลูก – หาตุ๊กตาอ่อนนุ่มเหมือนน้องตัวน้อยให้เด็กหัดแต่งตัวและถอดเสื้อผ้าให้ – เล่นเกมทิ้งของแล้วเก็บ หรือเกมของเล่นซ่อนหาเพื่อเตือนความจำและเกมจ๊ะเอ๋ – หัดให้ลูกน้อยเก็บของลงกล่องและเทออกจากกล่อง อ่านหนังสือด้วยกัน หาหนังสือเด็กเล็กสีสันสดสวยมาอ่านร่วมกัน จัดสรรเวลาสงบสุข เช่น เวลาก่อนเข้านอน เป็นเวลา “อ่าน”หนังสือ
44 สัปดาห์ ลูกน้อยออกเสียงคำสั้น ๆ ได้ชัดเจน และชี้ให้คุณแม่ดูรูปภาพในหนังสือได้ แต่ไม่มีความสนใจต่อเนื่องนานนัก ทิ้งของเล่นออกจากอู่บ่อยครั้ง มองหาของเล่น และร้องขอให้คุณแม่หยิบของเล่นให้ เด็กเข้าใจคำว่าข้างใน – ข้างนอก ที่นี่ – ที่โน่น สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เลือกหนังสือและนิตยสารประเภทต่าง ๆ มาอ่านให้ลูกฟัง – ยืดห้วงเวลาความสนใจของเด็กให้เนิ่นนานขึ้น โดยการเล่านิทานเรื่องสั้น ๆ ในสมุดภาพที่อ่านร่วมกัน – เล่นเกมตบแผละ แนะวิธีตบฝ่ามือ – แสดงเหตุซึ่งจะนำไปสู่ผล เช่น การผลักแท่งของเล่นตั้งเรียงเป็นแถว “นี่ไง ล้มกันเป็นแถวเลย” ชี้ให้ดูและเรียกชื่อ เปิดนิตยสารรูปสวย ชี้ให้ลูกน้อยดูรูปสิ่งของต่าง ๆ เรียกชื่อของนั้นแล้วทวนซ้ำ
48 สัปดาห์ ลูกน้อยสนใจหนังสือมากเป็นพิเศษ อยากจะให้คุณแม่เปิดรูปแล้วชี้ให้ดู เด็กจะออกเสียงชื่อตนเองได้ อยากฟังเรื่องตลก หรือแสดงเป็นตัวตลกเสียเองเพื่อให้คุณแม่หัวเราะ เด็กจะสั่นศีรษะถ้าต้องการแสดงการปฏิเสธ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ขานชื่อวัตถุและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย พูดทวนซ้ำบ่อยครั้ง ออกท่าทางเพื่อให้ลูกน้อยเลียนแบบ เอ่ยชมเชย และให้รางวัลถ้าเด็กมีการตอบสนอง – เล่านิทานหรือวาดภาพสร้างฉากให้เด็กตื่นเต้นสนุกสนาน เล่ากิจวัตรประจำวันให้เด็กเชื่อมต่อกับโลกรอบข้างได้ กระตุ้นให้ลูกน้อยเลียนแบบ ชี้ที่จมูกของคุณ “นี่จมูกคุณแม่” จับมือลูกน้อยให้ชี้ที่จมูกของเขา “นี่จมูกของหนู”
1 - 2 ปี
12 เดือน ลูกน้อยรู้เรื่องการหอมแก้ม และแสดงอารมณ์ได้หลากหลายชนิด เด็กอาจหยิบตุ๊กตายื่นส่งให้คุณแม่ แล้วปล่อยมือ เด็กจะพูดคำที่ทราบความหมายดีได้ 2-3 คำ จดจำสิ่งของที่มองเห็นในหนังสือ ชี้ให้คุณแม่ดูได้ เข้าใจคำถามง่าย ๆ ได้ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นจินตนาการและความคิดที่เป็นนามธรรม โดยการอ่านเรื่องสั้น ๆ ให้ลูกฟัง – กระตุ้นให้มีการแสดงความรักใคร่ เช่น ลูบไล้ตุ๊กตา เล่นกับสุนัข หอมแก้มคุณแม่ กอดคอคุณพ่อ – อธิบายขั้นตอนของการกระทำในขณะที่สวมถุงเท้า หรือถอดเสื้อให้ลูก อ่านเรื่องสั้น ๆ ลูกน้อยชอบเรื่องสัตว์กับลูกตัวเล็ก ๆ เด็กจะได้ทราบด้วยว่าสัตว์แต่ละชนิดส่งเสียงอย่างไร
15 เดือน เด็กรู้จักอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของตนเอง รู้จักสิ่งของหลายอย่างในหนังสือ รู้จักเสียงของสัตว์แต่ละชนิด จะถอดเสื้อเองได้ถ้าคุณแม่บอกจัดกลุ่มสิ่งของชนิดเดียวกันได้ เช่น ตุ๊กตาแมวและแมว ต่างก็เป็นแมวด้วยกัน สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – หางานง่าย ๆ ให้ลูกน้อยช่วยทำเพื่อเป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและการผจญภัยให้เด็กช่วยเก็บของเข้าที่เข้าทาง – ช่วยลูกน้อยผูกร้อยคำหลาย ๆ คำ ให้เป็นประโยคง่าย ๆ – เสนอความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของ เช่น ลูกบอลลูกนี้ของพี่ ลูกนี้ของหนู ฝึกให้ช่วยงาน เปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้ช่วยงานง่าย ๆ เช่น การเก็บของเล่นเข้าที่ เด็กจะได้รับความภูมิใจในตัวเองด้วย
18 เดือน ลูกน้อยจดจำสิ่งของบางอย่างในหนังสือได้แล้ว และจะชี้มือไปยังสิ่งนั้นได้ถ้าคุณบอกชื่อ เด็กจะช่วยทำงานบางอย่าง และพยายามจะเลียนแบบคุณแม่ เด็กเข้าใจคำบอกเล่า ที่จำเป็นต้องใช้สมองขบคิด เช่น “ไปหยิบตุ๊กตาหมีของหนูมาให้คุณแม่ที” สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – พัฒนาการทางภาษาขึ้นอยู่กับความทรงจำและความเข้าใจ กระตุ้นการเรียนรู้ด้วยการทำซ้ำ คุณแม่จะต้องพูดให้มากในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น “อยู่ที่ไหนนะ? ในห้องน้ำหรือเปล่า? นั่นไง หยิบขึ้นมาให้คุณแม่ที” – แนะนำให้เด็กรู้จักสรรพนามการแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น “แอปเปิลผลนี้ของเขา แอปเปิลผลนี้ของเรา” – แนะนำให้เด็กรู้จักรูปทรงทางเรขาคณิต เรียนรู้จากการทำซ้ำ เลือกสรรคำหลักที่จะใช้พูดซ้ำ ๆ เช่น “หนูมีแอปเปิล ใช่แล้วจ้ะ หนูมีแอปเปิลอยู่ในมือ”
21 เดือน ลูกน้อยบอกความต้องการอาหาร นม ของเล่น หรือไปห้องน้ำได้แล้ว เด็กจะเข้าใจเรื่องยุ่งยากซับซ้อนได้มากขึ้น เช่น “ไปที่ห้อง หยิบเอาแปรง แปรงผมของหนูมาให้คุณแม่ด้วย” เด็กจะใช้วิธีจูงมือหรือกระตุกชายเสื้อเพื่อเรียกร้องความสนใจ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – อธิบายคุณสมบัติของสิ่งต่าง ๆ เช่น เครื่องบินบิน “บรึม” ฝ่าอากาศ กาวเหนียวหนึบ ขนนกอ่อนนุ่ม ลูกบอลกลมดิก กลิ้งได้ ก้อนอิฐ สี่เหลี่ยม กลิ้งไม่ได้ – อธิบายสีสันของสิ่งต่าง ๆ – แนะนำให้เด็กรู้จักสิ่งตรงข้าม เช่น เรียบลื่นและขรุขระ – เริ่มสอนตัวเลข โดยการใช้นิ้วมือของคุณแม่ และนิ้วมือของลูกน้อย อธิบายคุณสมบัติ เมื่อใดที่วางของเล่นในมือของเด็ก ให้อธิบายคุณสมบัติของของสิ่งนั้น ไม่ว่าจะอ่อนหรือแข็ง สีสัน มีเสียงหรือไม่
2 - 3 ปี
24 เดือน ลูกน้อยเพิ่มเติมขุมคำศัพท์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถอธิบายคุณสมบัติของสิ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน และแยกแยะออกจากกันได้ พอจะรับคำสั่งซับซ้อนได้บ้างแล้ว และจดจำของเล่นที่เพิ่งจะเล่นเมื่อครู่ได้ พูดคุยไม่หยุดปาก มีการตั้งคำถามเป็นครั้งคราว สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – หัดให้ลูกใช้เครื่องมือง่าย ๆ เช่น พลั่ว ค้อน – แนะนำให้ลูกน้อยรู้จักเด็กคนอื่น ๆ ไม่ควรบังคับให้เด็กเล่นด้วยกัน – หาดินสอและสีให้เด็กได้เล่นสนุกกับการวาดภาพ – อ่านเรื่องขนาดยาวซับซ้อน และเทพนิยายให้ลูกฟัง – ฝึกให้เด็กสนใจดนตรี โดยมีเทปเพลงเด็ก หรือวีดิโอเทปที่มีตัวอักษรให้ร้องตามได้ กระตุ้นการใช้ความคิด ช่วยเด็กวางแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลูกบาศก์ และสี่เหลี่ยมจัตุรัสลงไปในช่องที่ถูกต้อง 30 เดือน ลูกน้อยเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปในสิ่งที่รู้จัก เช่น รู้ว่า ม้าต้องมีหาง จำเพลงเห่กล่อมได้ 1-2 เพลง และสามารถค้นหาได้ในหนังสือ จำสีสันได้มากขึ้น จำตัวเลขได้บ้าง เริ่มนับเลขได้ถึง 3 จำชื่อตัวเองได้ มีการตั้งคำถาม เช่น ทำไม พูดคำสั้น ๆ เช่น ไม่ ไม่ทำ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – จัดหาของเล่นเป็นชุด เช่น ชุดไร่แสนสุข หัดให้ลูกน้อยนับจำนวน วัว ไก่ และหมู – กระตุ้นให้วาดภาพ เติมรายละเอียดเข้าไปมากขึ้น สนใจผลงานศิลปะของลูกให้เต็มที่ – เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น และประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อย้ำความทรงจำของเด็ก เล่นเกมนับเลข นำการนับเลขเข้ามาในชีวิตประจำวัน เช่น ซื้อของกี่ชิ้นในการจ่ายตลาด สวมเสื้อผ้ากี่ชิ้น ฯลฯ 36 เดือน ลูกน้อยเพิ่มคำถามได้มากขึ้น เช่น ทำไม อะไร ที่ไหน อย่างไร นับเลขได้ ถึง 10 ถ้ามีการจัดเรียงแท่งไม้ ก็จะมีลวดลายซับซ้อนมากขึ้น แต่งตัวตุ๊กตาได้จนเสร็จ มีความจำดี ระลึกถึงเรื่องในอดีตได้ รู้จักเพศของตนเอง สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นความจำของเด็ก โดยการยกเรื่องในอดีตมาพูดคุย เช่น “เราไปสวนสัตว์เมื่อวานนี้ จำได้ไหมลูก?” – ถ้าลูกน้อยติดขัด เสนอตัวเข้าช่วย “ให้คุณแม่ช่วยนะคะ” แล้วสาธิตให้เด็กเห็น – เล่านิทานโดยให้ลูกน้อยเป็นตัวเอก – เพิ่มจำนวนหนังสือและเรื่องสั้นที่จะนำมาอ่านร่วมกัน เติมตัวตน สนับสนุนให้เด็กพึ่งตนเอง หัดให้พึ่งความคิดของตนเอง เช่น การให้เด็กเป็นผู้เลือกสีเสื้อผ้าหรือเลือกอาหารเอง