พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
Updated: Feb 14, 2022

ลูกน้อย ของเรามีพัฒนาการแต่ละช่วงวัย
เป็นอย่างไรบ้าง และคุณพ่อคุณแม่ควรเสริมสร้าง
พัฒนาการลูกน้อยได้อย่างไร
0 - 1 ปี
0 สัปดาห์ เด็กจะมีท่าประจำตัว มักจะเอียงหน้าไปหาด้านถนัดเสมอไม่ว่าจะจับวางนอนหงายหรือนอนคว่ำ เด็กมักจะหดแขนขาเข้าชิดลำตัว สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – จัดท่าร่างให้ลูกอยู่ในท่าตามธรรมชาติ ช่วยลูกออกกำลังกาย โดยการพับและยืดแขนขา – ศีรษะของเด็กมีขนาดใหญ่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับร่างกาย (หนึ่งในสี่ของความยาวของลำตัว) มีน้ำหนักมากเกินกว่ากล้ามเนื้อต้นคอและแผ่นหลังจะแบกรับได้ เสริมความแกร่งของกล้ามเนื้อ โดยจับลูกนอนคว่ำ 2-3 ครั้งต่อวัน ดัดยืดให้พ้นท่าทารกในครรภ์ พับและยืดขาลูกน้อยในช่วงเปลี่ยนผ้าอ้อม จะช่วยให้ลูกเปลี่ยนท่าร่างพ้นจากท่าหดแขนขาในครรภ์
4 สัปดาห์ กล้ามเนื้อต้นคอยังไม่แข็งแรงนัก ศีรษะจะแหงนหงายถ้าไม่มีมือคุณแม่ช้อนรองรับ ถ้าจับวางนอนคว่ำอาจยกศีรษะขึ้นจากที่นอนได้ชั่วครู่ ถ้าจับอยู่ในท่านั่ง ลูกจะเงยหน้าได้ชั่วครู่เช่นกัน สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ช่วยออกกำลังแขนขาเช่นเดียวกับทารกแรกเกิด – ยื่นปลายนิ้วหรือของเล่นชิ้นโปรดเข้าไปในขอบเขตการมองเห็นของลูกน้อย เพื่อให้เขาหันหน้ามองตาม ล่อสายตา ในขณะที่ลูกน้อยนอนคว่ำ ยื่นปลายนิ้วหรือของเล่นสีสดเข้าไปในสายตาของลูก เขาจะหมุนศีรษะมองตามการเคลื่อนที่
6 สัปดาห์ เด็กยกศีรษะจากที่นอนได้สูงถึง 45 องศา ศีรษะไม่แหงนหงายง่ายนักเมื่ออยู่ในท่านั่ง ศีรษะจะอยู่ในแนวเดียวกับร่างกายชั่วขณะในยามจับนอนคว่ำ เข่าและเอวแข็งแรงขึ้น แขนขาไม่หดเกร็งเหมือนเมื่อก่อน สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – วางของเล่นสีสดไว้ตรงหน้า เพื่อให้ลูกน้อยยกศีรษะขึ้นมอง – เสริมความแกร่งของกล้ามเนื้อ ท่อนขา โดยเล่นเกมยืดเหยียดขาในช่วงเปลี่ยนผ้าอ้อม กระตุ้นให้ยกศีรษะ จับลูกน้อยนอนคว่ำ วางของเล่นสีสดไว้ใกล้ศีรษะ แต่ก็ห่างพอที่เขาจะต้องยกศีรษะขึ้นมอง
8 สัปดาห์ ลูกน้อยยกศีรษะตั้งตรงได้ชั่วขณะ ไม่ว่าจะอยู่ในท่านั่ง ยืน หรือนอนคว่ำ เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ จะวางศีรษะในแนวเดียวกับร่างกายได้ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – สมดุลของร่างกายต้องอาศัยการรับรู้ของหู สมอง ไขสันหลัง และกล้ามเนื้อ เล่นเกมจับยืนตั้งตรง – เด็กจะสนใจสภาพรอบข้าง วางเด็กนอนเอนบนเบาะใหญ่ หาของเล่นอ่อนนุ่มสีสดให้เล่น ฝึกการเอื้อมมือคว้า วางลูกน้อยนอนเอนบนเบาะหรือหมอน ยื่นของเล่นอ่อนนุ่มสีสดเข้าใกล้ เพื่อให้ลูกยื่นมือออกมาคว้า
12 สัปดาห์ ลูกน้อยยกศีรษะได้นานขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในท่านอนคว่ำ ท่านั่ง หรือจับยืน ศีรษะแทบจะไม่แหงนหงายอีกแล้ว สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เสริมความแกร่งของกล้ามเนื้อต้นคอ โดยจับมือลูกน้อยให้ลุกขึ้นนั่งจากท่านอนหงาย – กระตุ้นการเอื้อมมือคว้า ในขณะที่ลูกน้อยนอนคว่ำ วางของเล่นอ่อนนุ่มสีสดไว้ใกล้ เด็กจะเรียนรู้วิธีทิ้งน้ำหนักตัวลงบนแขนข้างหนึ่ง เพื่อใช้แขนอีกข้างคว้าของเล่น เกมเสริมความแกร่งของกล้ามเนื้อ จับลูกนอนหงาย จับมือลูกดึงให้ลุกขึ้นนั่ง ประสานตากับลูกน้อย เล่นเกม “จ๊ะเอ๋” เล่นกับลูกน้อยให้บ่อยครั้ง
16 สัปดาห์ ลูกน้อยโปรดปรานการนั่ง เหลียวมองรอบข้าง ศีรษะอาจจะแหงนหงายบ้าง ถ้าถูกดึงให้ลุกขึ้นนั่ง เด็กขืนศีรษะให้ตั้งตรงได้แม้จะโอนเอนบ้างในยามขยับตัว ถ้าจับนอนคว่ำ ลูกน้อยจะเงยหน้ามองตาคุณได้ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เสริมความแกร่งของกล้ามเนื้อลำตัว โดยเล่นเกมจับนั่งโอนเอน – กระตุ้นสมดุลและการเคลื่อนที่ วางของเล่นอ่อนนุ่มสีสดให้ลูกเอื้อมมือออกมาคว้า – จับนั่งเก้าอี้ มีเบาะรองรับรัดรึงติดกับเก้าอี้ กระตุ้นสมดุล เติมอีกมิติหนึ่งให้เกม “จ๊ะเอ๋” คุณแม่จะแอบซ่อนอยู่ด้านข้าง เด็กจะต้องเอี้ยวตัวมองหาคุณแม่
20 สัปดาห์ เด็กควบคุมศีรษะได้ดีแล้วแม้จะถูกดึงให้ลุกนั่งหรือถูกเขย่า โยกให้โอนเอน ศีรษะจะไม่แหงนหงาย สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เด็กจะเดินได้ ศีรษะต้องตั้งตรงมั่นคง กระตุ้นสมดุลโดยจับลูกน้อยเล่นเกมเขย่าโยกเยก เกมรักษาสมดุลของศีรษะ เขย่าลูกน้อยให้โอนเอนบ่อยครั้งที่สุด เด็กจะเรียนรู้การควบคุมศีรษะ อุ้มลูกน้อยเต้นรำไปรอบห้อง
24 สัปดาห์ กล้ามเนื้อลูกน้อยแข็งแกร่งพอจะทิ้งน้ำหนักตัวบนแขนสองข้าง ยามนิ่งอาจยื่นแขนมาค้ำยัน ลูกน้อยยกมือยื่นมาให้คุณแม่ยกตัวลอยขึ้นจากพื้นนั่งได้เองในเก้าอี้สูง (ถ้ามีเบาะหนุนรอง) สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เล่นเกมจับกระโดดเพื่อเสริมความแกร่งให้กระดูกและกล้ามเนื้อเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหัดเดิน – การเล่นเกมเครื่องบิน โดยนอนคว่ำเคียงข้างลูกน้อย ยกแขน ยกลำตัวให้พ้นพื้น จะช่วยเสริมความแกร่งให้กล้ามเนื้อบั้นท้าย เตรียมพร้อมสำหรับการหัดคลาน – ให้รางวัลแก่การยื่นมือมาให้ยกตัว โดยการเล่นเกมยกตัวลอยฟ้า ออกกำลังฝึกรับน้ำหนัก วางลูกน้อยยืนบนตัก จับให้กระโดดขึ้นลงเบามือจะเป็นการฝึกให้ลูกน้อยคุ้นกับการแบกน้ำหนักเลี้ยงตัว เตรียมพร้อมสำหรับการหัดเดิน
28 สัปดาห์ ลูกน้อยรับน้ำหนักตัวด้วยมือเพียงข้างเดียวในท่านอนคว่ำ นั่งได้ตามลำพัง ยกคอขึ้นทันทีถ้าวางนอนหงาย จับให้นั่งคุกเข่า กล้ามเนื้อท่อนขาและบั้นเอวรับน้ำหนักตัวได้ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นให้ลูกน้อยยกศีรษะในขณะนอนหงาย โดยใช้ของเล่นสีสดมาล่อให้เอื้อมมือคว้า – เล่นเกมจับยืน เพื่อให้เด็กฝึกรับน้ำหนักตัว กระตุ้นให้ยกศีรษะ วางลูกน้อยนอนหงาย หาของเล่นเครื่องเขย่าหรือของเล่นสีสดมาล่อให้ลูกเอื้อมมือคว้า เขาจะยกศีรษะขึ้นมอง
32 สัปดาห์ ลูกน้อยพยายามเคลื่อนที่ ยื่นมือออกมาคว้าจับ อาจจะโยกตัวไปมาเพื่อให้เคลื่อนออกจากที่ เอวและเข่าแข็งแรงขึ้น พยายามใช้ขารับน้ำหนักตัว หากคุณแม่จับมือ เขาจะกระโดดขึ้นลง สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นให้เด็กกระถดตัว เพื่อให้รู้สึกถึงความสามารถในการเคลื่อนที่ ความเชื่อมั่นในตนเอง และการพึ่งพาตนเอง คุณแม่จะนั่งห่างจากลูกน้อย ยื่นมือให้เขาโผเข้ามาหา – เตรียมพร้อมสำหรับการหัดเดิน จับมือลูกน้อยให้ลุกขึ้นยืน กระโดดโลดเต้นทั้งบนที่นอน บนตัก บนเบาะ หรือในอ่างอาบน้ำ เตรียมเคลื่อนออกจากที่ นั่งห่างจากลูกน้อย ยื่นมือให้เขาโผมาหาโดยเรียกชื่อ หรือหาของเล่นชิ้นที่โปรดปรานมาล่อ
36 สัปดาห์ กล้ามเนื้อท่อนขารับน้ำหนักตัวได้แล้วแต่ยังต้องพึ่งหลักยึด อาจนั่งได้นานถึง 10 นาที โยกตัวไปด้านข้าง มาข้างหน้าได้โดยไม่เสียสมดุล พลิกม้วนตัว พยายามจะคลาน เด็กจะนั่งลง (จากท่ายืน) ได้ไม่ง่ายนัก สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นให้เด็กยืน โดยให้ยึดเกาะเครื่องเรือน – วางของเล่นไว้ด้านข้างหรือด้านหน้าเพื่อให้เด็กนั่งโยกตัวมาด้านข้างและด้านหน้า – ช่วยพับขาและพยุงบั้นเอวในขณะที่เด็กจะนั่ง ฝึกรับน้ำหนักตัว ช่วยลูกน้อยให้ยืนเกาะเครื่องเรือน โดยวางมือของเขาจับขอบเก้าอี้หรือตั่งเตี้ย คุณแม่จะปล่อยมือ รอรับถ้าเด็กปล่อยมือจากเครื่องเรือน
40 สัปดาห์ เด็กไม่ยอมอยู่นิ่งกับที่แล้ว อาจจะคุกเข่า ใช้มือดันตัวขยับไปข้างหน้า เขาจะใช้มือดึงตัวลุกขึ้นยืน และชอบทิ้งตัวลงนั่ง กล้ามเนื้อด้านข้างลำตัวแข็งแรงขึ้น เขาจะเอี้ยวตัวไปมาได้ในท่านั่ง สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – คุณแม่ยื่นปลายนิ้วให้ลูกน้อยจับดึงตัวขึ้นยืน ดึงลุกยืนสลับกับการปล่อยลงนั่ง กล่าวยกย่องความสามารถของเขา – สอนให้หัดก้าวเดิน ในขณะที่ลูกน้อยยืน จับงอเข่าแล้วยกเท้าข้างนั้นก้าวมาข้างหน้า ถ้าเขาทำตาม กล่าวชมเชย – วางของเล่นไว้ด้านหลังให้เขาหมุนตัวกลับไปคว้า คุณแม่ควรรออยู่ข้าง ๆ อย่างใกล้ชิด คอยแตะมือให้เป็นหลัก กระตุ้นให้คลาน วางลูกน้อยคุกเข่าไว้บนพื้น คุณแม่คุกเข่าอยู่ข้างหน้า ห่างเล็กน้อย ยื่นมือ เรียกชื่อ หรือนำของเล่นสีสดมาล่อ
44 สัปดาห์ เคลื่อนไหวได้เต็มที่แม้จะอยู่ในท่านั่ง เด็กจะคลานไปทุกมุมบ้าน ถ้าอยู่ในท่ายืน เขาจะยกเท้า สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ปฏิบัติเช่นเดียวกับระยะ 40 สัปดาห์ – วางเด็กลงบนพื้นในท่าคลาน ถอยห่างให้เขาคลานได้ไกลขึ้น – สอนให้หัดก้าวเดิน ในขณะที่ลูกน้อยยืน จับงอเข่าแล้วยกเท้าข้างนั้นก้าวมาข้างหน้า ถ้าเขาทำตาม กล่าวชมเชย – วางของเล่นไว้ด้านหลังให้เขาหมุนตัวกลับไปคว้า คุณแม่ควรรออยู่ข้าง ๆ อย่างใกล้ชิด คอยแตะมือให้เป็นหลัก ช่วยให้ลุกขึ้นยืน ยื่นนิ้วให้ลูกน้อยเกาะยืน เติมความภูมิใจให้เขาโดยยิ้มให้ กล่าวชมเชย และปรบมือให้
48 สัปดาห์ เด็กจะเดินออกด้านข้างถ้าเกาะเครื่องเรือน จะเดินมาข้างหน้าได้ทีละก้าวถ้าเกาะมือคุณแม่ทั้งสองข้างนั่งเอี้ยวตัวหยิบของได้โดยไม่เสียหลัก สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – วางเครื่องเรือนเรียงรายติดผนัง ลูกน้อยจะเกาะเดินได้ทั่วห้อง – ลูกน้อยจะเดินได้แข็งขึ้น ถ้าคุณแม่ยื่นนิ้วเดียวให้ลูกเกาะ วางเส้นทางหัดเดิน วางเครื่องเรือนเรียงรายเป็นแถวให้ลูกน้อยเดินไปทั่วห้อง ยกเครื่องเรือนที่ล้มคว่ำได้ออกจากห้อง
1 - 2 ปี
12 เดือน ลูกน้อยเดินได้คล่องแม้จะเกาะมือคุณแม่ข้างเดียว จะคลานคล้ายหมี คือ ยกมือได้เป็นครั้งคราว สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นให้เดินปล่อยมือ ในขณะที่เขาเกาะเครื่องเรือน ยื่นมือ เรียกชื่อให้เขาผละออกจากเครื่องเรือน – แยกเครื่องเรือนให้ถอยห่างออกจากกันทีละน้อย ลูกน้อยจะต้องสะสมความกล้าในการละมือออกชั่วขณะ เรียกลูกน้อยให้เดินมาหา ในขณะที่ลูกน้อยเกาะเครื่องเรือนเที่ยวทั่วห้อง คุณแม่จะนั่งห่างออกมายื่นมือให้ เรียกชื่อให้เขาผละออกจากที่เกาะ เดินมาหาคุณแม่
15 เดือน เด็กย่อเข่า คุกเข่าลงนั่งได้โดยไม่ต้องช่วย ยืนได้เอง ชอบไต่บันได และลุกขึ้นเดิน ก้าวเท้าระยะแรกเก้งก้างยกสูง ระยะก้าวไม่เท่ากัน กำหนดทิศทางไม่ได้ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ฝึกการงอเข่าและการทรงตัวโดยบั้นเอว ด้วยเก้าอี้พิเศษที่มีที่วางแขน เขาจะนั่งลงได้ง่ายโดยไม่ล้มคว่ำ – จับตามองทุกฝีก้าว ป้องกันอุบัติเหตุในการเดินหรือการไต่ขึ้นบันได – ให้อิสระเต็มที่ในการเดิน… ผูก “บังเหียน” ติดเสื้อผ้า เพื่อป้องกันการเดินออกนอกห้อง – ฝึกการเคลื่อนไหวของขา จัดหาลูกบอลอ่อนนุ่ม เตะส่งเล่นกับลูก หาเก้าอี้ที่มีที่เท้าแขน เด็กชอบก้าวไปนั่งและลุกออกจากเก้าอี้ ซึ่งจะช่วยให้เขาฝึกการทรงตัวด้วยบั้นเอวและหัวเข่า หาเก้าอี้ที่มั่นคงไม่ล้มคว่ำง่าย
18 เดือน เด็กไต่บันไดได้เอง ก้าวขึ้นทีละขั้นได้แม้จะต้องใช้มือเกาะบ้าง เดินได้มั่นคงไม่ยกขาสูง เดินถอยหลังได้ วิ่งได้แล้ว ไม่ใคร่จะล้มบ่อยครั้งนัก สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ฝึกให้ลูกน้อยทรงตัวด้วยบั้นเอวและงอเข่า… เพื่อการล้มอย่างถูกวิธี – ฝึกการเดินถอยหลังด้วยการเล่นเกมสนุก – กระตุ้นการเคลื่อนไหวในแง่มุมต่าง ๆ หาของเล่นที่ต้องดึงและดัน – ยื่นมือให้ลูกน้อยยึดเกาะ เพื่อให้การก้มลงเก็บสิ่งของง่ายยิ่งขึ้น – ให้ลูกน้อยเล่นสนุกกับการเตะลูกบอลให้มากขึ้น ฝึกกล้ามเนื้อบั้นเอวและเข่า ฝึกให้ลูกน้อยนั่งยอง ๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อ ออกท่าทางให้เขาเลียนแบบ
21 เดือน เด็กตามเก็บของที่หลุดหล่นได้แล้ว เดินถอยหลังได้อย่างง่ายดาย เดินขึ้นบันไดได้โดยไม่ต้องเกาะราว หยุดได้ทันที เดินอ้อมมุมบ้านได้ เล่นเกมเตะลูกบอลได้เก่งขึ้น สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – กระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบ ชวนลูกให้ร่วมกิจกรรมเล่นสนุก เช่น การขึ้นบันได การเต้นรำ การล้างหน้าให้คุณแม่ ฯลฯ เพิ่มกิจกรรมให้หลากหลาย ลูกสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณแม่ทำ เลียนแบบทุกเรื่อง คุณแม่สามารถดึงลูกให้เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวันได้
2 - 3 ปี
24 เดือน เด็กโปรดปรานการเต้นเข้าจังหวะ วิ่งได้แล้ว รู้จักชะลอฝีเท้าเมื่อจะหยุดหรือเลี้ยวที่มุมบ้าน นั่งยองๆได้โดยง่าย สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – ชวนลูกเล่นกิจกรรมประกอบดนตรีไม่ว่าจะเป็นการเต้นรำ คุกเข่าโยกตัวไปมา ปรบมือ ร้องเพลง ฯลฯ – อย่าได้คาดหวังว่าลูกจะวิ่งอ้อมมุมบ้านหรือหยุดได้ง่ายนัก เพราะกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอ เต้นรำและร้องเพลง ขยับตัวโยกไปมาให้เข้ากับจังหวะดนตรี เลือกท่าเต้นที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อทุกส่วนได้เคลื่อนไหวเต็มที่ 30 เดือน กระโดดพ้นพื้นได้ทั้งสองเท้า เดินบนปลายเท้าได้ ก้าวเดินมั่นคงพอจะถือของได้แล้ว ช่วยอุ้มน้องวางบนตักตัวเองได้ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เติมการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงยิ่งขึ้น หาของเล่นที่เด็กจะใช้เท้ายันพื้นขับเคลื่อนออกจากที่ – ฝึกความยืดหยุ่นคล่องตัวโดยเลือกเกมที่ต้องกระโดด และการเดินบนปลายเท้า ของเล่นเคลื่อนที่ได้ หาของเล่นติดล้อให้ลูกใช้เท้ายันพื้นขับเคลื่อนออกจากที่ เด็กยังไม่โตพอจะขี่จักรยาน 36 เดือน เด็กว่องไวอย่างเห็นได้ชัด เดินขึ้นบันได เท้าวางแต่ละขั้น กระโดดลงจากบันไดขั้นต่ำสุดได้แล้ว ยืนขาเดียวได้ชั่วครู่ เดินแกว่งแขนเหมือนผู้ใหญ่ ขี่จักรยานสามล้อได้ สิ่งที่คุณแม่จะช่วยได้ – เล่นเกมกระโดดขาเดียว หรือจับมือคุณแม่กระโดดขาเดียวสลับเปลี่ยนเท้า – ฝึกการแกว่งแขน โดยเดินพาเหรดไปรอบห้อง – หาจักรยานสามล้อให้ลูกออกกำลังกล้ามเนื้อน่องและต้นขา – เติมความเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวโดยให้เด็กเล่นชิงช้า กระดานหกและกระดานลื่น กระโดดขาเดียว เล่นเกมกระโดดขาเดียว เผาผลาญพลังงานส่วนเกินของเด็ก และยังช่วยให้กล้ามเนื้อขาแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย